“ผมออกนอกกรอบตลอดเวลา” เขาบอก
เขาเคยพาเด็กวิศวะไปที่ริมสระว่ายน้ำ เรียนไปและดูนิสิตสาว ๆ ว่ายน้ำไปด้วย คาดว่าคงไปเรียนเรื่อง “คลื่น”
ระหว่างท่าฟรีสไตล์ กับท่าผีเสื้อ คลื่นที่เกิดขึ้นของท่าไหนถี่กว่ากัน ระหว่างชุดทูพีซกับวันพีซ แรงเสียดทานกับน้ำ ชุดไหนมากกว่ากัน
แนวการศึกษาน่าจะออกไปทำนองนี้ แต่ที่ชอบที่สุดคือตอนที่เขาออกข้อสอบ ข้อสอบของเขาสั้นและกระชับมาก
“จงออกข้อสอบเอง พร้อมเฉลย” โหย…เด็กวิดวะอึ้งกันทั้งห้อง คำตอบส่วนใหญ่เป็นการตั้งโจทย์แบบง่ายๆ เช่น ปั้นจั่นมีกี่ชนิด
ผลปรากฎว่า ได้ศูนย์กันทั้งห้อง เพราะเป็นคำตอบที่ไม่ได้แสดงความคิดที่ลึกซึ้งสมกับที่เรียนมาทั้งเทอม
เหตุผลที่ ดร.วรภัทรออกข้อสอบด้วยการให้นิสิตออกข้อสอบเองเป็นเหตุผลที่ตรงกับใจผมมาก
“ชีวิตคนเราจะรอให้อาจารย์ตั้งโจทย์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาโจทย์มาเอง คิดแล้วทำ ถ้าผิดแล้วอาจารย์จะปรับให้”
เขามองว่าเด็กรุ่นใหม่ติดนิสัยเด็กกวดวิชา รอคนคาบทุกอย่างมาป้อนให้ไม่รู้จักคิดเอง
“ถ้ารอและตั้งรับ คุณก็เป็นพวกอีแร้ง แต่พวกคุณแย่กว่าเพราะเป็นแค่ลูกอีแร้ง คือ รออาหารที่คนอื่นป้อนให้”
โหย…เจ็บ ผมเชื่อมานานแล้วว่าชีวิตของคนเราเป็นข้อสอบอัตนัยที่ต้องตั้งโจทย์เองและตอบเอง
ไม่ใช่ข้อสอบปรนัยที่มีคนตั้งโจทย์ และมีคำตอบเป็นทางเลือก ก-ข-ค-ง ถ้าใครที่คุ้นกับ “ชีวิตปรนัย” ที่มีคนตั้งโจทย์ให้และเสนอทางเลือก
1-2-3-4 คนคนนั้นชีวิตจะไม่ก้าวหน้า เพราะต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลาติดกับ “กรอบ”ที่คนอื่นสร้างให้
ไม่เหมือนกับคนที่รู้จักคิดและตั้งคำถามเอง