อะไรมาดลใจนาย Jorn Barger ให้คิดคำศัพท์แปลกๆออกมา ว่า Weblog ซึ่งเกิดจากการรวมกันของคำสองคำ คือ Web+Log แปลได้เป็นนัยว่า การบันทึกบนอินเตอร์เน็ตเวิร์ลไวด์เว็บ แต่ก็ดีเหมือนกันที่นาย Peter Merholz มาจับย่อให้สั้นลงเป็น Blog จะได้จำได้ง่ายๆหน่อย ไม่ยืดยาว
ส่วนศัพท์อย่าง Diary ก็แปลได้คร่าวๆว่า การบันทึกเรื่องราวส่วนตัวนั่นเอง ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การเข้ามาของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น คนเขียน Diary ก็อยากเขียนบันทึกลงบน อินเตอร์เน็ตเวิร์ลไวด์เว็บบ้าง จึงมี Diary Online เกิดขึ้น แล้วมันแตกต่างจาก Blog ตรงไหนล่ะครับ
ความแตกต่างมันอยู่ตรงที่ว่า Blog นั้น เป็นการเขียนบันทึกเรื่องราว ในรูปแบบกว้างๆ ไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องราวส่วนตัว ของตนเอง อาจจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษา กีฬา นันทนาการ หรืออื่นๆ สุดแล้วแต่ใจปรารถนา และ Diary นั้นอาจจำกัดอยู่ในวงแคบๆ อย่างการเขียนเรื่องราวส่วนตัวเท่านั้น “เอ๊ะถ้างั้น Diary ก็จัดเป็น Blog ประเภทหนึ่งละสิ” ใช่แล้วครับ พูดง่ายๆ ได้ว่า Diary จัดเป็น Blog ประเภทหนึ่งจริงๆ ซึ่งมีหลายต่อหลายท่าน ให้คำจำกัดความออกมาได้อย่างนี้
“แล้วพูดอีกทำไมล่ะ ถ้ามีแค่นี้ ก็มีคนอื่นพูดไว้หมดแล้วไม่ใช่เหรอครับ” ความคิดในอีกมุมหนึ่งของผม คิดว่า Diary นั้นก็คือส่วนหนึ่งของ Blog นั่นละครับ ไม่ได้แยกออกมาเป็น Blog แต่ละประเภทหรอก เพราะเรื่องราวที่คุณเขียนลง Blog นั้น มันก็คือส่วนหนึ่งของตัวคุณ เป็นส่วนผสมหนึ่งที่ทำให้ Blog คุณลงตัวมากขึ้น สมมุติแล้วกันครับว่า ถ้าคุณเป็นคนอีสาน เวลาคุณทานส้มตำที่ไม่ใส่ปลาร้า จะรู้สึกได้ว่ามันขาดอะไรสักอย่างแน่ๆ เปรียบเทียบกับเวลาคุณอ่าน Blog คนอื่น ถ้าขาดความเป็นตัวตนของคนเขียน มันก็ไม่น่าอ่าน บทบาทของคนเขียนก็ลดลงไปนั่นเองครับ บางคนเขียนสนุก ได้อารมณ์ บางคนเขียนแบบเอาจริงเอาจัง วิชาการ แล้วคุณเขียนสนุกได้วิชาการก็ดี แล้วแต่เทคนิคการเล่าเรื่องของแต่ละคนครับ สรุปได้ว่า ส้มตำต้องใส่ปลาร้า เขียน Blog ต้องใส่ตัวตน แต่อย่าลืมจรรยาบรรณคนเขียน Blogนะครับ
ที่มา : ไอเดย์บล็อคดอทคอม